กลับก่อนหน้านี้
พ่อแม่เปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อสูงวัยขึ้น ตอนที่ 1: การเปลี่ยนแปลงที่มองเห็น

...บางทีเราไม่ทันสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเกิดขึ้นกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของเรา...

 

              ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมเยียนท่าน เราอาจเห็นเพียงเส้นผมของท่านจากที่มีสีดอกเลาประปราย ขาวโพลนมากขึ้น ริ้วรอยเหี่ยวย่นก็เพิ่มขึ้น พลางนึกว่าก็เป็นธรรมดาของคนแก่ นาน ๆ เราถึงจะนึกขึ้นได้ว่า … เออ หลังของท่านก็โก่งค้อมลง เคลื่อนไหวงุ่มง่ามเงอะงะ จนบางครั้งก็สร้างความรำคาญให้ลูกหลานอย่างที่ช่วยไม่ได้ยามเราถูกบีบคั้นจากชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ

 

....นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เห็นได้ชัดเจน...

 

              เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ เรามักจะนึกถึงความเสื่อมถอยของร่างกายภายนอกเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วร่างกายของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลงทั้งภายนอกและระบบภายใน รวมถึงสติปัญญาความรู้สึกนึกคิดเกิดมาตั้งแต่อยู่ในวัยกลางคน โดยเริ่มเห็นได้ตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปี แต่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายใช้ความสามารถที่มีอยู่ร่วมกับพลังสำรองซึ่งมีอยู่อย่างเต็มที่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ปัจฉิมตามวัฏจักรของชีวิตในวัย 60 ปีขึ้นไป พลังสำรองเหล่านั้นลดลงความเสื่อมก็เพิ่มขึ้นมากมาย แต่เราไม่ได้ใส่ใจเพียงพอจึงไม่เห็นชัดเจน

 

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด

 

              น้ำหนักลดลง

 

              ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักลดลงเพราะสัดส่วนของไขมัน กล้ามเนื้อและปริมาณน้ำในร่างกายเปลี่ยนไปจากเดิม มวลกระดูก รวมทั้งขนาดของตับก็จะลดลงกว่าเดิม สำหรับน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุบางคนอาจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพสะในคนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดี เช่น คนที่มีโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ข้อเข่าเสื่อม เพราะร่างกายเคลื่อนไหวน้อย ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือไขมัน

•             น้ำหนักลดลงอย่างไรจึงถือว่าผิดปกติ ให้สังเกตดูว่าถ้าภายในระยะเวลา  6  เดือนถึง 1 ปี น้ำหนักลดลงไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์ (สมมติน้ำหนักเดิม 60 กก. แล้วภายในเวลาดังกล่าวลดลงไปเหลือ 57 กก.) ถือว่าผิดปกติต้องหาสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากรับประทานอาหารได้ไม่ดี เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟัน กลืนอาหารลำบากจากสาเหตุความผิดปกติในหลอดอาหาร อาการท้องเสียเรื้อรัง ผลข้างเคียงของยาหรือเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น อยู่ในภาวะหัวใจวาย โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคซึมเศร้า เป็นต้น

น้ำหนักลดถือเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบพบแพทย์ ถ้าทิ้งไว้นานร่างกายส่วนอื่น ๆ จะทรุดโทรมไปด้วย และไม่อาจจะไม่ฟื้นสภาพกลับมาเหมือนเดิม

 

ทางการแพทย์พบว่า ร่างกายทุกระบบและทุกอวัยวะจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีถดถอยกว่าเดิม ประมาณ 1% ต่อปี ตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป

              ถ้าหากร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตั้งแต่ปฎิสนธิในครรภ์มารดา และเมื่อเกิดมาในช่วงเจริญเติบโตได้รับการดูแลเรื่องอาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสม มนุษย์เราจะมีพลังสำรองของอวัยวะต่าง ๆ มากถึง 10 เท่าของความสามารถทางร่างกายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

              ส่วนสูงลดลง

 

              ตามปกติแล้วพออายุ 40 มีเป็นต้นไป คนเราจะเริ่มเตี้ยลงโดยเฉลี่ยประมาณ 1.4 นิ้วทุก 10 ปี เพราะกระดูกสันหลังที่เรียงตัวตั้งแต่ใต้กะโหลกถึงกระดูกก้นกบทั้งหมดหลายสิบท่อน แต่ละท่อนจะค่อย ๆ ทรุดลงหรือบางลง ประมาณดูคร่าว ๆ ว่าถ้าซี่หนึ่งลดลงแค่ 1 มม. 10 ท่อนก็ลดลง 1 ซม. ถ้าผู้สูงอายุท่านไหนทีภาวะกระดูกพรุนรุนแรงมาก ตัวก็จะยิ่งเตี้ยลงมาก หลังโก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

              สมัยนี้ผู้หญิงไทยสูงอายุตัวเตี้ยน้อยลงกว่าเดิมเพราะเราเป็นห่วงเรื่องกระดูกพรุนกันมากขึ้น ก็จะออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมากกว่าเดิม ผู้ชายตัวเตี้ยน้อยลงเหมือนกันแต่ไม่มากนัก เพราะฮอร์โมนเพศชายทำให้กระดูกแข็งแรงอยู่นานกว่าผู้หญิง

             

              ผิวหนังเปลี่ยนไป

 

              ผิวหนังจะบางลงเพราะไขมันใต้ผิวหนังลดลง ทำให้ผิวเหี่ยวย่นหย่อนยาน ตอนอายุน้อยไขมันสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้หน้าตาเต่งตึงแจ่มใส ร่างกายอิ่มเอิบ รูปร่างสวยงาม พออายุมากขึ้นไขมันจะกระจายตัวลงไปยังส่วนล่างและช่องท้อง ทำให้ “พุง” ใหญ่ขึ้น ทั้งที่น้ำหนักตัวยังเหมือนเดิม

              ผู้สูงอายุบางคนจะมีผิวตกกระ เพราะเม็ดสีทำงานลดลง หลายคนอาจจะมีจ้ำเลือดที่แขนทั้ง 2 ข้าง เพราะเส้นเลือดเปราะบวกกับไขมันใต้ผิวหนังบางลง ทำให้ไม่สามารถพยุงเลือดไว้ได้ เมื่อมีการจับ ดึงรั้ง จึงเกิดจ้ำเลือดขึ้น

              บางคนยังมีผิวแห้ง แตก เป็นขุย และคัน โดยเฉพาะในฤดูหนาว ถ้าอาบน้ำอุ่นบ่อย ๆ ผิวหนังจะเป็นแผลและติดเชื้อง่าย

 

              เรี่ยวแรงถดถอย

 

              ตอนอายถ 30-40 ปี คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกเลยว่าร่างกายเริ่มถดถอยเพราะว่าร่างกายของเรามีพลังสำรองอยู่มาก เช่นตอนอายุ 30 ต้น ๆ เราไปเที่ยวเชียงใหม่ นั่งรถออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เย็นวันศุกร์ พอถึงเช้าวันเสาร์อาจจะไปเที่ยวเล่นไปถวายผ้ากฐิน บ่ายขึ้นดอย กลางคืนเล่นแคมป์ไฟ นอนก็ไม่ค่อยจะได้นอน วันอาทิตย์ตื่นขึ้นไปเที่ยวน้ำตกต่อ บ่ายไปซื้อข้าวซื้อของ เย็นขึ้นรถทัวร์ เช้าวันจันทร์ยังกลับมาทำงานได้อย่างสบาย ๆ

              แต่เมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น การทำอย่างนี้เป็นเรื่องยากแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เรี่ยวแรงที่ถดถอยทำให้ท่านไม่สามารถรับภาระที่ต้องใช้แรงหรือตรากตรำนั่งหลังขดหลังแข็งเป็นชั่วโมง หรือยืน เดินทั้งวันได้ แม่แต่คนสูงอายุที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ถึงแม้กล้ามเนื้อยังคงแข็งแรงอยู่ ถ้าอายุ 70 ปีแล้วอย่างไรเสียจะให้ทำงานเหมือนสมัยเป็นหนุมเป็นสาวไม่ได้อยู่ดี รวมถึงไม่สามารถถอดหลับอดนอนได้ด้วย

              ควรสำรวจว่า กิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุในบ้านของเรามีอะไรที่ท่านต้องทำเกินเรี่ยวแรงหรือไม่ เช่น เลี้ยงหลาน ทำอาหาร ท่านอาจไม่ปริปากบ่นและเต็มใจทำให้ลูกหลาน แต่ก็เป็นการฝืนสังขาร หากท่านมีความสุขที่ได้ทำ เราควรหาคนมาช่วย และดูแลให้ท่านได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

 

 

ที่มา: หนังสือ คู่มือดูแลพ่อแม่ โดย ผศ.พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง