โดย พิชยนันท์ วัฒนวิทูกูร
ปริญญาโทด้านโรคสมองเสื่อม,ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์, ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
ทั่วไปแล้ว การจะขอให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง ย้ายบ้านมาอยู่กับลูกๆ ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เพราะความคุ้นชินกับสังคมรอบๆ เพื่อนบ้าน และความรู้สึกภูมิใจที่ได้อยู่ในบ้านของตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาลูกๆ ที่ยอมใจอ่อนส่วนใหญ่ก็คือย้ายมาช่วยเลี้ยงหลาน แต่ในวันที่ท่านดูแลตนเองไม่ไหว ยิ่งในกรณีที่ของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรือ อยู่เป็นคู่ตา-ยาย ดูแลกันเอง ลูกหลานก็คงอดห่วงไม่ได้ ขอให้ท่านย้ายเข้ามาอยู่ใกล้ๆเพื่อให้ลูกหลานดูแล และก็ทำงานปกติของตนไปได้พร้อมกัน
แต่ก็แน่นอนว่า มาถึงจุดที่ผู้สูงอายุดูแลตนเองไม่ได้ดีอย่างเดิม แสดงว่าการทำงานของสมองเสียหายไปมากพอสมควร การรับรู้ในเรื่องการย้ายไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ย่อมยากขึ้น ผู้ดูแลหลายท่าน อาจจะเคยพบผู้ป่วย “ชวนกลับบ้าน” ทั้งที่ก็อยู่ในบ้าน บางครั้งถึงขั้น โมโห เก็บของออกจากบ้าน ลูกก็ไม่เข้าใจ ก็ตอนนี้อยู่นี่บ้านแล้ว แม่จะกลับไปไหนกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้ป่วยรู้สึกว่า “สถานที่ ที่อยู่ณ.ปัจจุบัน ไม่ใช่บ้านของท่านไงคะ”
นอกจากการหลอกล่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว การจัดบ้านให้ท่านคุ้นเคยก็ช่วยผ่อนคลายปัญหานี้ได้มากค่ะ ด้วยหลักการพื้นฐานคือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วย “สบายตัว สบายใจ” เริ่มจากครอบครัวลองค่อยๆนึกถึง life style การใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่นถ้าผู้ป่วยชอบอากาศธรรมชาติ ถ้าบ้านใหม่ลูกติดแอร์ทั้งบ้านกะว่าให้ท่านอยู่เย็นๆสบายๆ ท่านอาจจะหนาวไปหายใจไม่สะดวกไม่ชอบก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ้านเราทั้งหลังค่ะ แค่ให้มีสักมุมที่ท่านชอบไว้อยู่ช่วงกลางวัน เรียกว่าให้ท่านรู้สึกอยู่แล้วสบายตัวเหมือนแบบที่ท่านเคยอยู่มานั่นเอง
ในส่วนของการสร้างความสบายใจ สมบัติโปรดที่ท่านใช้ ดู หยิบจับทุกวันจากบ้านเดิม ถ้าเป็นไปได้ให้ขนมาบ้านใหม่ด้วย เพื่อสร้างความคุ้นเคย เช่น รูปภาพ ของแต่งบ้านกระจุกกระจิก เก้าอี้นอนประจำตำแหน่ง ตุ๊กตา ผ้าห่ม อันนี้เราสามารถแบ่งบางส่วนไว้ในห้องที่เราเตรียมไว้ให้ท่าน และบางส่วนในห้องอื่นๆได้ กลยุทธนี้ถูกใช้ในต่างประเทศเวลาผู้สูงอายุสมองเสื่อมย้ายเข้าบ้านคนชราเพื่อลดอาการตระหนกเมื่อย้ายเข้าที่อยู่ใหม่ จากการที่เห็นข้าวของที่คุ้นเคย ซึ่งในกรณีของเราเป็นบ้านของลูกแท้ๆ ด้วยความรักและความผูกพันกันย่อมช่วยให้ท่านปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่ได้ง่ายขึ้นค่ะ