กลับก่อนหน้านี้
ออกกำลังกายให้อายุยืนยาว ตอนที่1

ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วร่างกายของผู้สูงอายุจะถดถอยลง อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจลดลง หลอดเลือดยืดหยุ่นน้อยลง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ข้อต่อต่าง ๆไม่ยืดหยุ่นเหมือนก่อน ฯลฯ แต่สภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละคนก็ยังแตกต่างกันมาก การออกกำลังกายของผู้สูงอายุจึงต้องดูทั้งทางด้านความแข็งแรงกระฉับกระเฉงของท่านว่ามีมากน้อยแค่ไหน มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวอะไรบ้างหรือไม่ เพื่อเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละท่าน

ดังนั้นการออกกำลังกายของผู้สูงอายุแต่ละคนจึงมีเป้าหมายต่างกันไป สำหรับผู้สูงอายุปกติทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรงดีไม่มีโรคภัย การออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ทำให้หัวใจ ปอด และระบบไหลเวียนต่างๆทำงานดี ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและรักษาความแข็งแกร่งให้กระดูก ร่างกายมีความยืดหยุ่น ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยไม่ให้อ้วน ลดความเครียด และฟื้นฟูสภาพร่างกาย เป็นการเตรียมตัวแก่อย่างมีคุณภาพ

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุให้ร่างกายแข็งแรง

แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกแบบเบาๆ สมวัยเป็นประจำ คือการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายติดต่อกันสม่ำเสมอ ในระหว่างนั้นก็ต้องมีการหายใจเข้าออกเป็นปกติ ถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอถึงระดับหนึ่ง หัวใจทำงานดี ปอดขยายตัวได้ดี หรือจะเดินจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ออกกำลังกายด้วย แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ หัวใจต้องเต้นเป็นจังหวะติดต่อกัน รายงานการศึกษาในช่วงแรกๆบอกเอาไว้ว่าต้อง 30 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะทำให้หัวใจและหลอดเลือดดี และมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น แต่การศึกษาระยะหลังมานี้บอกว่า

“ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 15 นาทีก็พอ”

คำว่า “พอ” อยู่ตรงไหน เท่าไรจึงพอ...

อยู่ที่ว่า หัวใจต้องเคลื่อนไหวร่างกายติดต่อกัน จนกระทั่งชีพจรถึงเป้าหมาย ก็คืออยู่ที่ประมาณ 65-85 เปอร์เซ็นต์ของชีพจรสูงสุด (maximum heart rate) โดยคิดคำนวณจาก 220-อายุ

              สมมติอายุ 60 ปี อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ

              220-60 = 160 ครั้ง/นาที

              ชีพจรในขณะออกกำลังกาย

              = 65-85 เปอร์เซ็นต์ (160 ครั้ง/นาที) = 104-136 ครั้ง/นาที

พอถึงอายุ 60 ปี ชีพจรสูงสุดของคนเราจะลดลง ผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอมาตลอด ถ้าใช้เวลาออกกำลังกายได้ 30 นาที ก็จะเหมาะกับสภาพร่างกาย แต่ถ้าไม่เคยออกกำลังกายเลยแล้วมาออกทีเดียว 30 นาที แทนที่จะดีอาจแย่ไปเลย ต้องค่อยเป็นค่อยไป

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป

วัยนี้ไม่เน้นการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรง เพราะถ้าไม่แข็งแรงคงไม่อยู่มาถึงวันนี้ การออกกำลังกายในวัยนี้มีจุดมุ่งหมายไปที่ “จะทำอย่างไรให้อยู่ดี โดยไม่ให้ล้ม” ก็คือออกกำลังกายเพื่อให้การทรงตัวดี ลดโอกาสหกล้ม ฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และมีการทรงตัวที่ดี เคลื่อนไหวสะดวก เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง การทรงตัวก็จะดีตามมา

การออกกำลังกายต้องใช้การเคลื่อนไหวที่ไม่เร็วเกินไปนัก ที่ได้ประโยชน์มากก็คือ ไทเก๊ก ชี่กง รำมวยจีน ไทชิ ซึงเคลื่อนไหวช้าๆ การเคลื่อนไหวช้าๆต้องการกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจึงจะทรงตัวอยู่ได้ ถ้าหากคนเล่นแอโรบิกเป็นประจำไปยืนรำมวยจีนคงไม่ไหว เพราะเป็นการใช้กล้ามเนื้อคนละชุดกัน

 

การกระโดดในการออกกำลังแบบแอโรบิกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นหลัก ส่วนคนที่ยกน้ำหนักเริ่มต้นด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็กและใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เพื่อรับน้ำหนักนานๆ

กล้ามเนื้อมัดใหญ่สำคัญมากในการทรงตัว เช่น กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อหลัง การฝึกชี่กง ไทเก๊ก มวยจีน โยคะ ฯลฯ ช่วยให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแกร่ง

 

ส่วนฝึกการเคลื่อนไหวอาจใช้รำวงก็ได้ บางแห่งฝึกให้รำดอกบัวเพื่อสุขภาพซึ่งคล้ายๆไทเก๊ก แต่การฝึกกล้ามเนื้อจะน้อยกว่า ช่วยให้อาการปวดต่างๆน้อยลง กล้ามเนื้อและข้อต่างๆดีขึ้น

 

ที่มา:      หนังสือ คู่มือดูแลพ่อแม่ โดย ผศ.พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทความที่เกี่ยวข้อง