ในขณะนี้ ยังไม่มียาชนิดใดที่จะรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้หายขาด และอาการทั้งหมดกลับมาเป็นปกติตามเดิม แต่มียาที่ใช้เพื่อชะลออาการของโรค ทำให้ความเสื่อมช้าลงเพื่อที่ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ช่วยตัวเองได้นานที่สุด
ในปัจจุบัน องค์การอาหารและยาในประเทศสหรัฐอเมริการให้การรับรองยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์อยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่
- ยากลุ่มที่ต้านการทำลายของสารสื่อประสาทชนิดโคลีน (Cholinesterase inhibitor) ยากลุ่มนี้มีด้วยกัน 3 ตัว ให้ใช้ในผู้ป่วยระยะต้นถึงระยะกลาง
- ยาที่ปิดกั้นการทำงานของสานสื่อประสาทชนิดกลูตาเมทที่ระดับต่ำแบบชั่วคราว
ในทางปฏิบัติ เมื่อหมอได้ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นสมองเสื่อมแล้ว จะต้องลงความเห็นว่าอยู่ในระดับใด (ระยะต้น ปานกลาง รุนแรง เป็นต้น) หลังจากนั้น หมอจะพิจารณาว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะได้รับยากลุ่มนี้ไหม โดยพิจารณาจากอาการผู้ป่วย ความรวดเร็วของการดำเนินโรค (อาการเป็นไปช้าๆ เป็นมานาน หรือเป็นรวดเร็ว) ลักษระของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การกินอยู่ การนอน บุคลิกภาพเดิมก่อนป่วย เป็นต้น เพราะลักษณะเหล่านี้ อาจจทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายตอบสนองกับยาต่างกัน และอาจแสดงอาการข้างเคียงของยาในลักษณะ และรุนแรงต่างๆกัน
หมอจะเริ่มให้ยาและดูอาการของผู้ป่วยเป็นระยะ และค่อยๆ ปรับขนาดยาให้ไปถึงระดับสูงสุดที่ผู้ป่วยทนกับยาได้ (หมายความว่า ผู้ป่วยบางรายจะได้รับยาในขนาดเต็มที่ แต่บางรายอาจจะได้ยาที่ขนาดต่ำกว่า) ในรายที่ผู้ป่วยทนยาไม่ได้ คือมีผลข้างเคียงมาก แพทย์อาจจะเปลี่ยนไปใข้ยาอีกตัวหนึ่งในกลุ่มเดียวกัน ผู้ป่วยควรจะได้ยาเพียงตัวเดียวเท่านั้น ไม่ควรได้รับยา 2 หรือ 3 ตัวในกลุ่มเดียวพร้อมๆกัน เพราะไม่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นกว่าการใช้ยาตัวเดียว แต่ที่สำคัญกว่าคือ ผลข้างเคียงจากยาจะมากขึ้นกว่าประโยชน์ที่ควรจะได้
อาการข้างเคียงของยาที่พบบ่อย
ส่วนใหญ่จะพบอาการทางด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เรอบ่อยมาก ถ่ายเหลว ถ่ายหลายๆ ครั้ง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาการอื่นๆ ที่พบบ่อยคือ ง่วงซึม มึนหรือเวียนศีรษะ ใจสั่น วุ่นวาย การนอนเปลี่ยนไป เช่น นอนน้อยลง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบน้อยลง ถ้าค่อยๆ ปรับยาทีละน้อยเพื่อให้เวลาที่ร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา บางรายพอปรับยาเพิ่มขึ้นก็มีอาการ แต่พอลดยาลงมาเท่าเดิมก็สบายดี