กลับก่อนหน้านี้
เมื่ออาการมันน่าจะใช่...แล้วจะพาไปหาหมออย่างไรดีล่ะ

บทความนี้ต้องขอขอบประคุณเพื่อนๆสมาชิกเพจสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่ช่วยกันแนะนำแบ่งปันเคล็ดลับวิธีการ เริ่มต้นพาคนที่บ้านของเราไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่กันนะคะ ที่มาที่ไปคือ สมาคมฯของเรา รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตร พยายามรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักสัญญาณสมองเสื่อม ว่าแบบนี้นะมันเป็นโรค ไม่ใช่หลงลืมตามวัย ไม่ใช่ผีเข้า ต้องไปหาหมอ แต่เราญาติๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ต่างรู้ดีว่า การพาพ่อแม่ไปหาหมอนั้น ยากเย็นเพียงใด แค่ไปตรวจสุขภาพประจำปี ยังไม่ค่อยจะยอม ไหนจะกลัวเสียเงิน กลัวตรวจเจอโรค บางท่านก็บอกว่า “ถ้าไม่ตรวจก็ไม่เจอ” แล้วนี่จะให้ไปตรวจสมองเสื่อม มีรึจะยอม ยิ่งรู้ว่าต้องไปพบจิตแพทย์ นอกจากจะไม่ยอมไปแล้ว คนชวนยังอาจจะโดนสวนกลับมาด้วยประโยคคลาสสิกว่า “ไม่ได้บ้า จะไปหาจิตแพทย์ทำไม” ซะอีก แอดเมียวเลยคิดว่า ถ้าเรามารวบรวมมุขการหลอกล่อ ต่อรอง เพื่อชวนคนของเราไปเริ่มต้นพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจะดีกว่า 

 

วิธีการที่เพื่อนๆสมาชิกเพจช่วยกันนำเสนอกันมาสามารถเลือกใช้ตามบุคลิกของคนที่บ้านเราได้ดังนี้

 

1. สายสุดคุ้ม

อาจจะเหมาะกับนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ผู้มีความช่ำชองด้านบัญชีการเงินมาก่อน ลูกๆควรมาพร้อมกับแพคเกจ  ตรวจสุขภาพของขวัญ วันพ่อ วันแม่ หรือเทศกาลอะไรก็ได้ อาจจะบอกว่าแถมมาในประกันสุขภาพ และสินค้าบริการที่ท่านใช้ประจำ บอกท่านว่า จ่ายเงินไปแล้ว เดี๋ยวจะเสียสิทธิ์ไปฟรีๆนะ เสียดายแย่ แล้วเราค่อยไปกระซิบคุณพยาบาล คุณหมอที่โรงพยาบาลว่าสงสัยเรื่องสมองเสื่อมให้ช่วยส่งต่อไปตรวจเรื่องนี้ด้วย

 

2. สายแพ้ใจ

ผู้ใหญ่ในบ้านเรา มักจะมีใครสักคนในครอบครัว เช่น ลูกคนโปรด หลานรัก เพื่อนสนิท ที่มีอิทธิพลต่อท่าน พูดแล้วฟังเข้าหู เข้าไปคุยแบบจริงใจ จริงจัง กึ่งออดอ้อน ว่า รักนะ ห่วงนะ อยากให้ไปตรวจ มีอะไรจะได้รีบรักษา ถ้าไม่มีเราก็จะได้สบายใจทุกคน มีความเสี่ยงคือถ้าเลือกตัวแทนเจรจาผิด กลายเป็นคนที่อยู่ใกล้แต่เป็นไม้เบื่อไม่เมา แทนก็อาจจะโดนท่านด่ากลับมาแทนได้ค่ะ

 

3. สายผู้ดูแลปกป้อง

คุณพ่อคุณแม่ของบ้าน  สามีผู้นำครอบครัว บรรดาท่านผู้นำทั้งหลาย หลายๆท่านรับไม่ได้แน่ๆถ้าบอกว่าฉันเป็นคนป่วย ให้ขอให้เขาไปเป็นเพื่อนเราหน่อย บอกว่าตัวเราเราเครียดงานเราอยากพบจิตแพทย์ เจ้าของไอเดียนี้ ได้พาคุณแม่ไปเริ่มพบจิตแพทย์ ตรวจเรื่องสมองเสื่อมที่ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งค่ะ โดยโทรไป นัดแนะกับทางโรงพยาบาลไว้ก่อน ว่า จะพาคุณแม่มาตรวจ แต่คุณแม่คิดว่ามาเป็นเพื่อนลูก ให้ทางโรงพยาบาลรับมุขด้วย และทางโรงพยาบาลก็รับมุขเป็นอย่างดี  มุขนี้แอดเมียวที่เดินวนเวียนๆ ทำงานแถวๆคลินิกจิตเวชเชื่อว่า ญาติๆสามารถโทรเตี๊ยมแบบนี้ได้กับ คลินิกจิตเวชทุกโรงพยาบาลค่ะ บ้านเรา เจ้าหน้าที่และคุณหมอเข้าใจว่า รุ่นใหญ่ๆวัย 60s 70s ยังกลัวการถูกพามาตรวจที่จิตเวชอยู่และยินดีให้ความร่วมมือค่ะ

 

3. สายคนสนิทใจ

อันนี้อาจจะต้องอาศัยความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคลนิดนึงค่ะ คือไปญาติไปปรึกษาแพทย์ที่เรา หรือ ผู้ป่วยพอจะรู้จัก เป็นคนคุ้นเคยหากันมาก่อน เช่น เป็นญาติ เป็นคุณพ่อ คุณแม่เพื่อนเราที่เขาก็รู้จักแต่เด็ก เป็นลูกเพื่อนเขา หรือแม้แต่หมอโรคอื่นๆที่เจอกันมานานๆ เป็นขวัญใจของท่าน เช่น คุณหมอครอบครัวประจำบ้าน หมอรักษาความดัน หรือ หมอรักษาเบาหวาน แล้วให้คุณหมอช่วยส่งตรวจมายังแผนกที่สามารถตรวจรักษาเรื่องสมองเสื่อมได้ รวมทั้ง ช่วยพูดต่อรองกับผู้ป่วยด้วย ด้วยพลังแห่งเสื้อกาวน์ เขามักจะยอมฟังและรุ้สึกดีค่ะ

คำถามยอดฮิตต่อมาคือ .. “แล้วจะไปหาหมออะไรที่โรงพยาบาลไหนดีละ?”

โรงพยาบาลแรกที่เราจะต้องนึกถึงคือ โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็น บัตรทอง  30บาทรักษาทุกโรค หรือที่เรียกว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม หรือ สิทธิ์เบิกลจ่ายข้าราชการ เหตุผลเพราะถ้าตรวจแล้วหวยออกมาว่ามีภาวะสมองเสื่อมจริง เราต้องดูแลหาหมอกันไปยาวๆค่ะ เป็นสิบปีเลยก็ว่าได้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลจะงอกฟูขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต้องวางแผนกันยาวๆ อะไรที่ประหยัดได้ประหยัดก่อน

 

ถ้าโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ไปดูแล้วไม่ประทับใจ หรืออาจจะยังไม่สามารถตรวจเรื่องสมองเสื่อมได้ อาจจะต้องพิจารณาโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านเดินทางไม่โหดร้ายค่ะ เพราะเมื่ออาการของโรคพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ผู้มีภาวะสมองเสื่อม จะให้ความร่วมมือในการเตรียมตัวออกมาหาหมอได้น้อยลง การพามายิ่งไกล ยิ่งทุลักทุเล ยิ่งต้องใช้เวลาเตรียมตัวนาน และพอมารอที่คลินิกนาน คนของเราก็จะรอไม่ไหว เพราะตื่นเช้า เดินทางไกล เหนื่อย เบื่อ เซ็งก็ อาจจะมีนำโห ทำให้ญาติเพลียต่อได้ค่ะ

 

สำหรับแผนกที่จะไปหา เราสามารถเริ่มต้นที่การตรวจร่างกาย หรือแผนกเวชศาสตร์ครอบครัวก็ได้ แล้วขอให้คุณหมอที่คลินิกส่งต่อไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมกับ คุณหมอทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (อันนี้มีน้อย) คุณหมอประสาทวิทยา หรือ อาจจะเป็นจิตแพทย์ ตามแต่ละว่า โรงพยาบาลนั้นๆ ใครถนัดดูแลเรื่องสมองเสื่อมค่ะ หลายท่านที่สามารถพาไปตรวจที่จิตเวชได้ ก็อาจจะพุ่งตรงไปที่จิตเวชเลยก็ได้ค่ะ  แต่ส่วนตัวนะคะ แอดเมียวจะแนะนำให้เริ่มหาที่หมอครอบครัว (เช่นที่รามาฯ)หรือ คุณหมอเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ก่อนเพราะ ผู้สูงอายุมักไม่ได้มีโรคเดียว และสมองเสื่อมนี่มักจะไม่ได้มาคนเดียว แต่มักจะมีเพื่อนๆโรคผู้สูงอายุอื่นๆ มาด้วย คุณหมอด้านนี้ท่านก็จะดูองค์รวมทั้งร่างค่ะ แล้วถ้าเห็นควรพบจิตแพทย์ท่านก็จะส่งต่อไปแบบนี้

 

สุดท้ายเป็นเคล็ดลับที่ทั้งอาจารย์ ทีมงานและผู้ดูแลหลายท่านเห็นตรงกันคือ เลือกคุณหมอที่คุยแล้ว คลิกค่ะ คือเราผู้ดูแลสามารถพูดคุยและเปลี่ยนข้อมูลกับคุณหมอได้อย่างสบายใจ เพราะการดูแลรักษาโรคนี้ญาติกับหมอต้องคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลาเพื่อให้ผลการดูแลออกมาดีที่สุดค่ะ

Admeow
28 ธ.ค. 2561
เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง